วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

เทคโนโลยี



เข้ากับกระแสการใช้ชีวิตในสังคมยุคใหม่ และเอาใจสาวกสมาร์ทโฟน ที่นิยมการดาวน์โหลด

กับผลงานการพัฒนาแอพพลิเคชั่น บนมือถือ จากฝีมือนักวิจัยของเนคเทค หรือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ที่พร้อมจะขนมาโชว์กว่า 30 แอพพลิเคชั่น ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทคเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี หรือ NECTEC-ACE 2011

ซึ่งปีนี้ยกผลงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตคนเมือง สมัยใหม่ ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งโซนไฮไลต์ของงาน โดยมีทั้งด้านความบันเทิง การเกษตร การแพทย์และสุขภาพ รวมถึงด้านการขนส่งและการจราจร

แอพฯ เหล่านี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี เพื่อนำไปทดลองใช้งานจริง

อย่างเช่น แอพพลิเคชั่น “แกลลอรี่3 มิติ” (Gallery 3D) ทางเลือกของคนชอบถ่ายรูปผ่านมือถือ ผลงานของ ดร.จันทร์จิรา สินทนะโยธิน นักวิจัยอาวุโสจากหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีภาพ และทีมงาน ที่มีผลงานเป็นที่รู้จักจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์กะโหลกศีรษะและจำลองใบหน้าหลังการจัดฟัน

ดร.จันทร์จิรา บอกถึง แกลลอรี่ 3 มิติ ผลงานชิ้นใหม่ที่เพิ่งเสร็จหมาด ๆ ว่า เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีภาพ 3 มิติ มานำเสนอภาพบนมือถือให้จัดแสดงในรูปแบบแกลลอรี่ เสมือนจริง สามารถที่จะหมุนด้วยการสัมผัสหน้าจอ ผู้ใช้สามารถเคลื่อนที่ไปในแกลลอรี่ที่สร้างขึ้นด้วยการกดปุ่ม หรือใช้ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวที่มีอยู่ในมือถือรุ่นใหม่ ก็ได้

แอพพลิเคชั่นแบบนี้ นักวิจัยบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในต่างประเทศมีให้โหลดอยู่แล้วเพียงแต่จะเสียค่าดาวน์โหลด ซึ่งก็ไม่แพงมาก แต่นี่ก็คืออีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักดาวน์โหลดที่จะได้ใช้งานแอพพลิเคชั่นฝีมือคนไทย และที่สำคัญ โหลดได้ฟรี โดยปัจจุบัน รองรับกับสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.2

ส่วนแอพพลิเคชั่น “ทราฟฟี่ บีเซฟ” (Traffy b Safe) ก็เป็นอีกหนึ่งแอพฯ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับคนทำงานที่ต้องอาศัยรถโดยสารสาธารณะ ทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยสารสนเทศการสื่อสารและการคำนวณ บอกว่า แอพฯ นี้ใช้สำหรับการแจ้งร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยของการเดินทาง สามารถอัพโหลดรูปภาพ แสดงความคิดเห็น ทำการวัดความเร็วของรถแบบเรียลไทม์ ขณะที่นั่งโดยสารอยู่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานกรณีรถโดยสารนั้น ๆ ขับรถเร็วเกินกำหนดได้อีกด้วย โดยผู้ใช้งานมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยส่งต่อไปยังกรมการขนส่งทางบกหรือมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคได้ทันที อนาคต ผู้วิจัยบอกว่าจะมีการพัฒนาต่อให้สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการขับของผู้ขับขี่ได้อีกด้วย ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น ถูกทดสอบใช้งานแล้วกับรถตู้โดยสารที่วิ่งระหว่าง ม.ธรรมศาสตร์ รังสิตกับอนุสาวรีย์ฯ โปรแกรมนี้ใช้ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และของแอปเปิ้ล

สำหรับ “ฟู้ดไออีท” (Food i Eat) แอพพลิเคชั่นสำหรับคนรักสุขภาพ ผลงานของทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการประมวลผลสัญญาณชีวการแพทย์นักวิจัยเจ้าของผลงานบอกว่า แอพฯนี้เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นโปรแกรมบันทึกพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยเก็บประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ ผู้ใช้สามารถกรอกปริมาณแคลอรีของอาหารที่ทานเข้าไป โดยเลือกค่าจากฐานข้อมูลอาหารที่มีกว่า 200 ชนิด ทำให้ผู้ใช้ทราบว่าในแต่ละวันทานอาหารเข้าไปแล้วกี่แคลอรี แถมมีระบบคำนวณความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ทราบว่าอาหารที่ทานเข้าไปเหมาะสมหรือไม่อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่น ใบข้าว (BaiKhao) แอพฯ ที่ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ พัฒนาขึ้นสำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องทำงานด้านการเกษตร ให้เป็นทางเลือกสำหรับการตรวจสอบความต้องการธาตุไนโตรเจนของต้นข้าวในนา แอพพลิเคชั่นผึ้งใจสิงห์ (Bee The Lion) จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาพ ที่เป็นโปรแกรมช่วยค้นหาดอกไม้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับดอกไม้ที่อยากรู้จัก โดยอาศัยภาพถ่ายดอกไม้เป็นต้นฉบับในการค้นหา และแอพพลิเคชั่น แรลลี่วัฒนธรรมไทย (Thai Fiesta) จากห้องปฏิบัติการวิจัยสารสนเทศสื่อประสม ที่จะนำผู้ใช้งานเข้าสู่เทศกาลของไทยผ่านไอโฟน โดยมีการแนะนำเทศกาลรอบ ๆ ตัว สามารถแข่งขันเก็บคะแนนกับเพื่อนในกลุ่มรวมถึงท่องเที่ยวในรูปแบบสังคมออนไลน์ได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น